เป็นที่ชัดเจนแล้ว ณ เวลานี้ ว่าคนไทยน่าจะได้ดูการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย ระหว่างวันที่ 20 พ.ย.-18 ธ.ค. 2565 ท่ามกลางกระแสข่าวความวุ่นวายของบประมาณในการไปซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 ในครั้งนี้ ที่สูงถึง 1,600 ล้านบาท
ซึ่งน่าจะเป็นราคาที่แพงที่สุดในภูมิภาคเอเชีย!!!
โดยมีการยืนยันตัวเลขว่า ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 อยู่ที่ 36 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อคำนวณตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราล่าสุด บวกภาระภาษีที่ต้องจ่าย คิดเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 1,591 ล้านบาท
ทั้งนี้การเดินหน้าหางบประมาณในการไปซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 มีความชัดเจนตั้งแต่ตอนที่ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกฯ ยืนยันในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า คนไทยจะได้ชมถ่ายทอดสดอย่างแน่นอน โดยงบประมาณหลักที่ใช้จะมาจากเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยไม่ต้องไปรบกวนเอกชน
งานนี้มีกระแสข่าวลือสะพัดว่า “พล.อ.ประวิตร” สั่งการสายตรงไปยังกสทช. ให้เอาเงินจากกองทุนกทปส. มาจ่าย เหมือนครั้งที่ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลยูโร และ กีฬาโอลิมปิกส์ ครั้งที่ผ่านมา!!!
ขณะที่เจ้าภาพหลัก “การกีฬาแห่งประเทศไทย” (กกท.) พยายามหาเอกชนมาซื้อลิขสิทธิ์แล้ว แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งทาง “บิ๊กก้อง” ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการกกท. กล่าวว่า ได้ชี้แจงในเรื่องรายละเอียดของเงินจำนวน 1,600 ล้านบาทว่ามีค่าอะไรบ้างและจะนำไปทำอะไรบ้าง ซึ่งถ้าไม่ได้เลยก็ต้องยอมรับว่าคงเป็นเรื่องยากที่จะไปหาเงินจำนวนมากขนาดนั้น เพื่อซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกในครั้งนี้ เพราะเวลามันกระชั้นชิดมาก และคนไทยก็อาจจะไม่ได้รับชมฟุตบอลโลกกัน
ล่าสุดเป็นที่ชัดเจนว่า การประชุมบอร์ดกสทช.ครั้งที่ผ่านมา (9 พ.ย.2565) ที่ประชุมโดยกรรมการเสียงข้างมาก มีมติอนุมัติสนับสนุนเงินงบประมาณกกท. เพื่อการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ตามจำนวนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง แต่ทั้งนี้ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ 600 ล้านบาท โดยให้กองทุน กทปส. และสำนักงาน กสทช. ดำเนินการตามระเบียบต่อไป
ที่ประชุม กสทช. พิจารณาอย่างรอบคอบเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าว เป็นการดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อย่างทั่วถึง ตามมาตรา 52 (1) แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 และ ที่แก้ไขเพิ่มเติม และเป็นการดำเนินการเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการและคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป ตามมาตรา 36 และมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่ง กสทช. สามารถดำเนินการได้ และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) ตามพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อีกทั้งการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย เป็น 1 ใน 7 รายการที่ กสทช. กำหนดไว้ในประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 (Must Have)
“กสทช. โดยกรรมการเสียงข้างมาก อนุมัติเงินจากกองทุน กทปส. 600 ล้านบาท (รวมภาษีและอากรอื่นใด) เพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถรับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ทั้ง 64 นัด ผ่านฟรีทีวีทุกแพลตฟอร์ม เพื่อส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิของคนพิการ ผู้มีรายได้น้อย และคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป”
ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ “การซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022” กกท.จะต้องหาเงินใส่เพิ่มเติมอีก 1,000 ล้านบาท เพื่อให้เพียงพอกับวงเงินในการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 ที่ 1,600 ล้านบาท!!!
แข่งกับระยะเวลาที่จะเริ่มแข่งขันในอีกไม่กี่วันข้างหน้า!!!
และภายหลังที่ทางบอร์ดกสทช.ไฟเขียวงบประมาณซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 ตัวเลขที่น่าสนใจของรายได้ทางเศรษฐกิจที่ทาง “ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย” โดย “ ธนวรรธน์ พลวิชัย” อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์ฯระบุ หากมีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกไม่ว่าจะเป็นทางฟรีทีวี หรือเคเบิ้ลทีวี จะมีเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจ 1.8 หมื่นล้าน จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะมีความคึกคักที่สุดในรอบ 5 ปี น่าจะคึกคักกว่าฟุตบอลโลกปี 2018 และฟุตบอลยูโร 2020 โดยเม็ดเงินตลอดในช่วงของฟุตบอลโลก 1 เดือน จะทำให้อุตสาหกรรมในห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชนหมุนเวียนประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีได้ประมาณ 0.3-0.5% ซึ่งทำให้จีดีพีไตรมาส 4 น่าจะขยายตัวได้ 4% รวมถึงในช่วงปีใหม่ที่มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น และมีมาตรการกระตุ้นเช่นช้อปดีมีคืน เราเที่ยวด้วยกัน เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 3.3-3.5%
แต่หากไม่มีการถ่ายทอดสดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจจะหายไป 5,000-10,000 ล้านบาท เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ความคึกคักจะหายไป โดยความเห็นส่วนตัวมองว่าเงิน 1,600 ล้านบาทที่จะนำไปซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดนั้นคุ้มค่ากับเงินที่จะสะพัดในระบบเศรษฐกิจ แต่ที่มาของเงินที่นำมาใช้ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดนั้นต้องเคารพการตัดสินใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะตัดสินใจอย่างไร
สำหรับผลสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายช่วงฟุตบอลโลก 2022 ทั่วประเทศจำนวน 1,257 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1-6 พ.ย.65 คาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 1.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบกับฟุตบอลยูโร 2020 ที่มีเงินสะพัด 1.5 หมื่นล้านบาท
ส่วนการใช้จ่ายนอกระบบเศรษฐกิจ หรือ พนันบอล อยู่ที่ 5.7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.9% เมื่อเทียบกับฟุตบอลยูโร 2020 ที่มีเงินพนัน 4.5 หมื่นล้านบาท รวมการใช้จ่ายสะพัดทั้งในและนอกระบบเศรษฐกิจในการแข่งขันฟุตบอลโลกปีนี้อยู่ที่ 7.5 หมื่นล้านบาท
สำหรับมูลค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่มาจากการสังสรรค์ จัดเลี้ยง ซื้ออาหาร เครื่องดื่ม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์รับสัญญาณ, ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า และซื้ออุปกรณ์กีฬา พนันบอล เป็นต้น
การที่คนไทยจะได้ดูฟุตบอลโลก 2022 ครั้งนี้ ยังต้องปาดเหงื่อกันอีกยก!! แม้บอร์ดกสทช.จะไฟเขียวเงิน 600 ล้านให้ไปซื้อลิขสิทธิ์! แต่กกท.ก็ต้องหาเงินโปะอีก 1,000 ล้าน! งานนี้คงต้องลุ้นแบบหายใจรดต้นคอ! เพราะมีตัวเลขเม็ดเงินทางเศรษฐกิจที่จะสะพัดนับหมื่นล้านล่อใจ!